
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประชุมนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS9) เข้ามาใช้ในประเทศไทย ส่งผลให้ธุรกิจภายในประเทศไทยนั้นจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อให้ทันต่อมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ในครั้งนี้โดยมีจุดประสงค์ คือเพื่อให้การลงบันทึกบัญชีมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทั่วโลกนั้นใช้กันจากมาตรฐานเดิม IAS 39 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน 1 มกราคม 2562
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน หรือมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 9 (TFRS9) เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งวัตถุประสงค์คือ การจัดทำรายงานทางการเงินสำหรับ “สินทรัพย์ทางการเงิน และหนี้สินทางการเงิน” เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ใช้งบการเงินในการประเมินถึงจำนวนเงิน ช่วงเวลา และความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการ โดย TFRS9 สามารถแบ่งเป็น 3 เรื่องหลัก ๆ คือ
• การจัดประเภทรายการ และวัดมูลค่า (Classification and Measurement)
• การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss)
• การป้องกันความเสี่ยงทางบัญชี (Hedge Accounting)
การจัดประเภทรายการ และวัดมูลค่า คือ การดูรูปแบบการดำเนินธุรกิจของกิจการในการจัดการสินทรัพย์ทางการเงิน และลักษณะของกระแสเงินสดตามสัญญาของสินทรัพย์ทางการเงิน

แล้วอะไรคือการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss) ตามมาตรฐาน TFRS9 ?
ยกตัวอย่างจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันการตั้งสำรองของลูกหนี้ปกติที่ค้างชำระ 0-30 วัน สำรองแค่ 1% ของวงเงินสินเชื่อ แต่เกณฑ์ใหม่ให้ (TFRS9) ตั้งสำรองตามโอกาสความเสี่ยงในรอบ 12 เดือนข้างหน้า โดยอาจดูจากพฤติกรรมการชำระหนี้ในอดีตว่าเคยมีประวัติการค้างชำระหรือไม่ และวิเคราะห์ความเสี่ยงไปข้างหน้าว่าลูกหนี้ทั่วไปมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหรือไม่ ซึ่งหากมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ทางธนาคารจะต้องตั้งสำรองให้กลุ่มนี้มากกว่า 1% สำหรับลูกหนี้ที่ค้างชำระ 30-90 วัน เดิมแบงก์ตั้งสำรอง 2% เกณฑ์ของมาตรฐานใหม่ (TFRS9) จะพิจารณาการตั้งสำรองบนโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ตลอดอายุสัญญาการกู้ เช่น หากค้างชำระแล้ว 1 งวด และมีความเสี่ยงผิดนัดชำระงวดที่ 2 แบงก์อาจต้องตั้งสำรองเพิ่มเป็น 10% หรืออาจต้องตั้งสำรองเต็ม 100% ได้
จากตัวอย่างข้างต้น ธนาคารจะมีการตั้งสำรองจากพฤติกรรมในการชำระหนี้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ตามหลักการคำนวณค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือ “Expected Credit Loss” ดังนี้
หากลูกหนี้ไม่มีการผิดนัดชำระเลย จะมีการตั้งเงินสำรองตามกระแสเงินสดที่จะได้รับภายใน 12 เดือน (12-month Expected Credit Losses)
หากลูกหนี้มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องตั้งสำรองโดยคำนวณใหม่ตามอายุ ของตราสารนั้น ๆ แทน (Lifetime Expected Credit Losses)
หากลูกหนี้ปฏิบัติผิดสัญญา มีประวัติการค้างชำระหรือการผิดนัดชำระ กิจการจะตั้งสำรองเพิ่มตามสัดส่วนความเสี่ยงที่สูงขึ้น และพิจารณากระแสเงินสดตามอายุของตราสารนั้น ๆ แทน (Lifetime Expected Credit Losses)
สุดท้ายคือ การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge Accounting) เป็นหนึ่งในมาตรฐานการบัญชีที่เจ้าของกิจการจำเป็นต้องทำเพื่อลดผลกระทบ และกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับมูลค่าของสินทรัพย์ที่ครอบครอง
แล้วนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีส่วนร่วมกับการทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS9) ฉบับนี้ยังไง ?

ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS9) ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อลดช่องโหว่ที่ทดแทนกับมาตรฐานฉบับเดิมกล่าวคือ จะมีการลงบัญชีก็ต่อเมื่อเกิดการผิดนัดชำระไปแล้ว ซึ่งเป็นการลงบัญชีแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถนำไปตั้งเงินสำรองของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS9) นั้นได้มีการนำหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยมาประยุกต์นั้นก็คือ การคิดความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระ (Probability of Default) ในส่วนของ การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss)
แล้วนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทำงานอย่างไรตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9
(TFRS9) ?
โดยทั่วไปแล้วนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมักจะมองว่า ความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงนั้นเปรียบเสมือนโอกาสให้สำหรับพวกเขา เพราะงานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือ การวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลสำหรับการคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นภายในอนาคต ซึ่งเป็นการพยากรณ์หรือทำนายสิ่งอาจจะเกิดขึ้นภายในระยะยาว เพื่อที่จะทำการประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด และโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดรวมถึงสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
แต่อย่างไรก็ตามนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ไม่ได้ทำงานเฉพาะธุรกิจประกันภัยตามชื่ออย่่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถทำงานร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ได้ เช่น สถาบันทางการเงิน ธนาคารพาณิชย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหน่วยงานภาครัฐ และอื่น ๆ
สรุปคือ ภายใต้มาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS9) นั้นจำเป็นที่ต้องใช้ความรู้ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย เพื่อคำนวณวิเคราะห์ และเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาจำลอง และสร้างโมเดลการคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก็คือความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระ (Probability of Default) เพื่อคำนวณการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment Loss) ให้ตรงตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน (TFRS9) นั้นสามารถอธิบายได้จาก “การวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” |
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น
Comments